ข้อมูลทั่วไปอำเภอฟากท่า

Details

 

ที่ตั้งและอาณาเขต
     อำเภอฟากท่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 113 กิโลเมตร

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอนาหมื่น (จังหวัดน่าน) และอำเภอบ้านโคก
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอบ้านโคก
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอน้ำปาด
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอท่าปลา และอำเภอนาหมื่น (จังหวัดน่าน)

 

ประวัติ

     อำเภอฟากท่าตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2480 โดยมีฐานะเป็น กิ่งอำเภอฟากท่า ขึ้นกับอำเภอน้ำปาด ที่ตั้งกิ่งอำเภออยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านนาหน่ำ ตำบลฟากท่า ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ภายใต้การนำของพญาปาด ได้มาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ที่บ้านสองคอน ริมแม่น้ำปาด ต่อมาเมื่อมีผู้คนมากขึ้นก็อพยพต่อลงมาทางใต้ สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลบ้านฝาย อำเภอน้ำปาด ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเช่นกัน แม่น้ำนี้จึงได้ชื่อว่า "น้ำปาด" ตามชื่อของพญาปาด ส่วนประชากรที่บ้านสองคอน เมื่อมีจำนวนเพิ่มขึ้นก็ขยายข้ามแม่น้ำไปฝั่งตรงข้าม เรียกว่า "ฟากท่า" ซึ่งหมายความว่า คนละฝั่ง

     ในปี พ.ศ. 2485 ได้ย้ายที่ตั้งกิ่งอำเภอมาอยู่ที่บ้านวังขวัญ และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็น อำเภอฟากท่า


การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
    
อำเภอฟากท่าแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 ตำบล 29 หมู่บ้าน ได้แก่

1. ฟากท่า       (Fak Tha)       11 หมู่บ้าน  
2. สองคอน       (Song Khon)       11 หมู่บ้าน  
3. บ้านเสี้ยว       (Ban Siao)       6 หมู่บ้าน  
4. สองห้อง       (Song Hong)       5 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น
    
ท้องที่อำเภอฟากท่าประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลฟากท่า ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลฟากท่าและตำบลสองคอน
  • องค์การบริหารส่วนตำบลฟากท่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลฟากท่า (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลฟากท่า)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสองคอน (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลฟากท่า)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเสี้ยว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านเสี้ยวทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสองห้อง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสองห้องทั้งตำบล

ลักษณะภูมิประเทศ
     สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขาสูง สลับกับที่ราบเชิงเขาและที่ราบ โดยมีแนวภูเขาวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น แม่น้ำปาด อันเป็นแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านพื้นที่บริเวณตอนกลางในแนวเหนือ-ใต้

   

ระบบสารสนเทศการบริหารจัดการความเสี่ยงของสถานพยาบาล  

   
© โรงพยาบาลฟากท่า อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์